เกิดหายนะอะไร ในตุรกี?
ข่าวเด่น 6,8435 ปีที่แล้วหากเราใช้เงิน 1 ดอลลาร์ซื้อไก่งวงที่ตุรกีได้ 1 ตัว ..วันนี้ด้วยเงินเท่าเดิม เราจะซื้อไก่งวงได้มากถึง 4-5 ตัวเลยทีเดียว.. มันเกิดอะไรขึ้นที่นั่น?
การศึกษาวิกฤติการเงินของตุรกี อาจทำให้คุณรู้สึกเสียวสันหลัง.. เพราะสาเหตุบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน มักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันเสมอ..
เมื่อปี 2014 ตุรกีมีนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลกเลยนะครับ แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2016 (ซึ่งไม่สำเร็จ) ตุรกีก็เริ่มไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เศรษฐกิจของตุรกีเริ่มซบเซา ต่างชาติเริ่มทยอยถอนเงินลงทุน นักท่องเที่ยวหาย และค่าเงิน "ลีร่า" ร่วงลงเหว
ในปี 2018 ตุรกีโดน ปธ. โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีเหล็กจากตุรกีเพิ่มเป็น 2 เท่า (สินค้าหลักของเค้าเลย) วันนั้นทำให้ค่าเงินลีร่าเริ่มร่วงลงอย่างรุนแรง จาก 3.78 ลีรา/ดอลลาร์ ไปเป็น 6.92 ลีรา/ดอลลาร์ อย่างรวดเร็ว
จากนั้นปัญหาต่างๆ ที่เคยปิดเอาไว้ก็เริ่มปิดไม่มิด ภายนอกคนอาจเห็นว่าเศรษฐกิจของตุรกีเติบโตสูง แต่ไส้ในล้วนมาจากการก่อหนี้ แถมยังเป็นหนี้ต่างประเทศด้วย หนี้ต่อ GDP สูงกว่า 50% เลยทีเดียว
ตุรกีก่อหนี้มาทำอะไรนักหนา?
ก็กู้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยังไงล่ะ
ค่าเงินลีราที่อ่อนตัวลง ทำให้หนี้สินต่างประเทศที่มีอยู่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า นึกภาพว่าจากเดิมเราเคยจ่ายค่างวด 10,000 บาท ต่อมาเพียงไม่นานค่างวดกลายเป็น 20,000 บาทซะอย่างงั้น ..เงิบไม่ไหว
ต่อมาพบว่าตุรกียังมีปัญหาขาดดุลการค้าติดต่อกันมานานถึง 30 กว่าปี นับจากปี 1985 อีกด้วย (นำเข้ามากกว่าส่งออก) อะไรมันจะขนาดนั้นครับ!!
อะไรคือสาเหตุของการบริหารอันผิดพลาดย่อยยับขนาดนี้??
ชื่อของประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) คือคนแรกๆ ที่ต้องกล่าวถึง
"ลุงแอร์" ครองอำนาจมานานกว่า 20 ปี ซึ่งผมก็งงเหมือนกันว่าเป็นไปได้ยังไง ทั้งที่ผลงานบัดซบขนาดนี้ ประชาชนก็ไม่น่าจะเลือกแกแล้ว..
ลุงแอร์มีแนวคิดค่อนข้างบ้าบิ่นในการบริหารเศรษฐกิจ เขาเลือกจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้อย่างยาวนาน (จะว่าถาวรเลยก็ได้) เพื่อนๆ ลองนึกภาพดอกเบี้ยเงินฝากอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินดูนะครับ ไม่มีใครอยากฝากเงินแน่นอน อัตราการออมเงินของคนในประเทศจึงต่ำมาก
เงินไหลออกจากธนาคารสู่ภาคธุรกิจจริงราวกับเขื่อนแตก คนส่วนใหญ่ต่างคิดว่าเอาเงินไปเล่นหุ้นน่าจะกำไรกว่าฝากธนาคารเป็นไหนๆ ว่าแล้วตลาดหุ้นตุรกีก็พุ่งเป็นไฟพะเนียง ในทางกลับกัน เรื่องนี้ก็ส่งผลให้ธนาคารมีเงินสดลดลงไปด้วย
เมื่อเศรษฐกิจกิจกำลังโตดี ภาคธุรกิจที่ต้องการกู้เงินแต่ธนาคารดันเงินหมด ก็เลยต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุน เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นไปพร้อมเงินเฟ้อที่โตเป็นเงาตามตัว
ซึ่งในเคสแบบนี้ ด้วยสามัญสำนึกธรรมดาๆ รัฐบาลก็ควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ผลักดันให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้ง.. แต่เปล่าเลย ทีมลุงแอร์แกดันคิดอะไรแบบพิเรณๆ ก็ในเมื่อมันดีอยู่แล้ว เราจะเปลี่ยนของที่กำลังดีๆ อยู่ไปทำไมกัน
ตุรกีเลือกที่จะกดดอกเบี้ยต่ำๆ เอาไว้ต่อไป เพราะชอบใจที่เศรษฐกิจมันพุ่งแรงดี เดี๋ยวเศรษฐกิจก็จะโตแรงจนแซงเงินเฟ้อไปเอง.. เรียกว่าฉีกทุกตำราเศรษฐศาสตร์กันเลยทีเดียว
หนี้ในตอนนั้นพุ่งไปเกิน 3 เท่าของทุนสำรองระหว่างประเทศ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญ ลูกหนี้อย่างตุรกียังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แต่เจ้าหนี้เริ่มจะหัวร้อนกันแล้ว ก็พี่ก่อหนี้กันขนาดนี้จะให้เจ้าหนี้เขาเอาอะไรมาเชื่อว่าจะคืนหนี้เขาได้
ความเชื่อมั่นต่อตุรกีเริ่มลดฮวบ เริ่มเกิดการทยอยถอนเงินลงทุนกลับ ต่างชาติทำการขายเงินลีรา เปลี่ยนเป็นสกุลอื่นเพื่อขนออกนอกตุรกี (โดยเฉพาะดอลลาร์) ทำให้ค่าเงินลีร่าร่วงอย่างรวดเร็ว
เศรษฐกิจที่โตมาจากการก่อหนี้ เมื่อค่าเงินเสื่อมลง หนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเฉียบพลัน บริษัทต่างๆ มีหนี้เพิ่มขึ้นในชั่วข้ามคืนแบบไม่ได้คาดคิดมาก่อน ในตอนนั้นเองที่ภาครัฐเริ่มรู้ตัว พยายามปรับดอกเบี้ยขึ้นไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ (เคยสูงถึง 24% ในปี 2018) แต่มันก็สายไปเสียแล้ว เพราะความเชื่อมันได้ทลายลงไปแล้ว
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดยังมาโดน โดนัลด์ ทรัมป์เล่นงานเอาด้วยกำแพงภาษีอีก จอดไม่ต้องแจว การส่งออกแทบจะหยุดสายพาน ส่งผลให้เกิดการขาดดุลหนักขึ้นไปอีก สินค้าที่เคยขายได้ก็พบกับภาวะยอดขายดิ่งลงเหว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางการเมืองด้วย นับตั้งแต่ปี 2011 การใช้จ่ายของภาครัฐตุรกีจำนวนมาก ไม่ต้องทำตามกฎหมายด้านการบริหารการคลัง เช่น การใช้จ่ายด้านป้องกันประเทศ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐบาล หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นการทำร่วมกับภาคเอกชน
ตุรกีมีผู้นำซึ่งออกแนวเผด็จการ และมีความคิดบ้าๆ บวมๆ บริหารประเทศส่งเดช กดดอกเบี้ยจนคนไม่ยอมออม เงินไหลเข้าสู่ภาคธุรกิจจริงจนเฟ้อ พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ก่อหนี้จนเกินตัว ส่งผลให้เกิดหายนะทางการเงิน
ปัจจุบันวัยรุ่นตุรกีกว่า 20% กำลังตกงาน ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อยังคงพุ่งไปอีก 21% อัตราดอกเบี้ยถูกลดลงมาจาก 16% เหลือ 15% แล้ว (ในขณะที่ชาวบ้านเขาจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยกัน)
ต้นปี 2021 ลุงแอร์สั่งยุบธนาคารกลางหน้าตาเฉย ฉุดค่าเงินลีร่าให้ลงต่อเนื่องอีก 45% การนำเข้าได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อนตัว ภาคการผลิตเริ่มหายใจรวยริน คนตุรกีทำงานหาเงินได้ แต่กลับจนลงเรื่อยๆ อสังหาริมทรัพย์ในตุรกีเริ่มถูกชาวต่างชาติเข้ามากว้านซื้อ คนตุรกีเริ่มเสียสินทรัพย์ไปทีละเล็กทีละน้อย
ปัจจุบันค่าเงินลีร่าอยู่ที่ 13-14 ลีร่า/ดอลลาร์ (เคยสูงสุดถึง 18 ลีรา/ดอลลาร์)
ประชาชนรุ่นใหม่ได้เริ่มออกมาประท้วงให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปี 2021 ผู้คนเริ่มแสวงหาทางออกทางการเงิน ความหวังสุดท้ายของชาวตุรกีคือ "คริปโต"
มีรายงานว่า จำนวนการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในตุรกีเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อวัน กระแสความสนใจในคริปโตของคนตุรกีไปเข้าตาลุงแอร์ในที่สุด ลุงพยายามเข้ามากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเข้มงวด จนถึงขั้นสั่งแบนในที่สุด
เงินของเราแท้ๆ แต่เรากลับไม่สามารถใช้มันได้อย่างอิสระ เราจะซื้อจะขายอะไร เรายังถูกริดรอนสิทธิ์ไปโดยรัฐบาลอีก นี่คือชะตากรรมของชาวตุรกี
เหตุการณ์หายนะที่เกิดขึ้นกับตุรกีนั้น ช่วยตอกย้ำให้เราต้องกลับมาฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วเงินที่เราทำงานหามาได้นั้นเป็นของเราจริงหรือไม่ เราจะไว้ใจให้รัฐบาลไร้ความสามารถบริหารประเทศแบบที่เกิดกับตุรกี ซึ่งผลที่ตามมาคือเงินของเราเสื่อมค่าลง
หรือเราจะเริ่มหันมาหาวิธีปกป้องเงินของเรา
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป..
#บิตคอยน์ #bitcoin #cryptocurrency #ตุรกี #เงินเฟ้อ
====================================
*ได้ทำการแก้ไขคำ/ สำนวนในมเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดทางการเมืองนะครับ บทความนี้เขียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บทวิเคราะห์ ไม่มีการเติมไข่ใส่สีใดๆ ในเรื่องราว มีเพียงการใช้คำในสไตล์ส่วนตัวเพื่อให้อ่านง่ายขึ้นเท่านั้น**
อ้างอิง
- Acemoglu, Daron & Ucer, Murat (2015). “The Ups and Downs of Turkish Growth, 2002-2015: Political Dynamics, the European Union and the Institutional Slide.” NBER Working Papers 21608, National Bureau of Economic Research, Inc.
- Bloomberg (2018). “Erdogan Plans to Tighten His Grip on Turkey’s Economy.” https://www.bloomberg.com/.../erdogan-plans-to-tighten...
- Directorate-General for Economic and Financial Affairs, European Commission. (2009) “Growth and economic crises in Turkey: leaving behind a turbulent past?” Economic Paper No.386
- The Economist (2018). “Turkey’s diplomatic crisis is hastening an economic one.” https://www.economist.com/.../turkeys-diplomatic-crisis...
- The World Bank (2014). “Turkey’s Transitions: Integration, Inclusion, Institutions.” Country Economic Memorandum
ขอบคุณภาพและเนื้อหาจากhttps://www.facebook.com/CryptonizeTH/